ศุกร์. เม.ย. 19th, 2024

สธ.-สปสช. “เพิ่มเครือข่ายปฐมภูมิ เพิ่มโอกาสเข้าถึงการรักษา”

ครบรอบ 16 ปี การจัดตั้งเครือข่ายคลินิกโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบง่าย ถอดบทเรียนความสำเร็จการทำงานแบบเครือข่ายที่ได้รับความร่วมมือจากสถานพยาบาลขนาดต่าง ๆ พร้อมชูพันธกิจปี 2564 “สานต่อเป้าหมาย เพิ่มเครือข่ายสู่ปฐมภูมิ” เพื่อให้ผู้ป่วยโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังมีโอกาสเข้าถึงการรักษาที่มีมาตรฐานเดียวกัน โดยไม่ต้องเดินทางเข้ามารักษาในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ช่วยลดความแออัดของจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาล

นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา สะท้อนว่า ระบบสุขภาพปฐมภูมิมีความสำคัญมาก เพราะเป็นหน่วยบริการสุขภาพที่สามารถเข้าถึงประชาชนได้ใกล้ชิดที่สุด อาทิ คลินิกหมอครอบครัว (PCC) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยความมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิให้มีความเข้มแข็ง มีศักยภาพมากขึ้น และมีการทำงานแบบบูรณาการและเชื่อมโยงกับทุกภาคส่วน ขณะนี้กระทรวงฯ ให้ความสำคัญกับระบบสุขภาพปฐมภูมิ ทั้งทางนโยบายระบบสุขภาพปฐมภูมิเข้มแข็ง และระบบบริการก้าวหน้า โดยหน่วยบริการปฐมภูมิเป็นด่านแรกที่ประชาชนสามารถเข้าถึงการรักษาอย่างมีคุณภาพ และเชื่อว่าหากประเทศไทยมีระบบสุขภาพปฐมภูมิที่แข็งแกร่ง จะสนับสนุนให้ประชาชนแข็งแรง เศรษฐกิจแข็งแรง ประเทศไทยแข็งแรง หากบุคลากรทางการแพทย์ให้เวลาดูแลผู้ป่วยมากขึ้น ผู้ป่วยก็จะคืนเวลากลับมาให้ และทำให้มีความสะดวกสบายมากขึ้น ตัวอย่างเช่น หากผู้ป่วยโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังสามารถเดินทางไปรักษาไปที่สถานพยาบาลใกล้บ้านได้ เช่น PCC หรือ รพ.สต. ก็ไม่ต้องแอดมิทหรือเดินทางไกลมาที่โรงพยาบาล ก็จะช่วยลดค่าใช้จ่ายและทำให้มีความสุขมากขึ้น สิ่งสำคัญ คือ Trust ทุกฝ่ายต้องช่วยกันสร้างความเชื่อมั่นและศรัทธาให้กับประชาชนว่าหน่วยปฐมภูมิสามารถดูแลได้ และโรงพยาบาลใหญ่จะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดความเชื่อมั่นและศรัทธากับหน่วยปฐมภูมิได้”

นพ.จักรกริช โง้วศิริ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สำนักงาน หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีหน้าที่หลักในการจัดทำระบบประกันสุขภาพเพื่อให้คนไทยทุกคนเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ซึ่งหัวใจสำคัญของการดูแลผู้ป่วยโรคนี้มีองค์ประกอบอยู่ 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 โอกาสการเข้าถึงของประชาชน ทำอย่างไรให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบบริการที่มีมาตรฐาน อาทิ ความพยายามในการขยายเครือข่ายคลินิกโรคหืดและปอดอุดกั้น ที่กำลังทำอยู่นี้ ส่วนที่ 2 ประสิทธิภาพของระบบบริการ ทำอย่างไรให้เกิดการบริหารงบประมาณแผ่นดินเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ สามารถเข้าถึงทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน และส่วนที่ 3 การจัดระบบบริการให้มีคุณภาพมากขึ้น ทิศทางของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะมุ่งเน้นการส่งเสริมป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดโรคควบคู่ไปกับการดูแลรักษา โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ส่วนท้องถิ่น ประชาชนและองค์กรกิจการเพื่อสังคม ระบบปฐมภูมิจะเป็นด่านแรกที่สำคัญในระบบสาธารณสุข ซึ่งต้องมีการบริหารจัดการทรัพยากรในแต่ละพื้นที่โดยทีมสหวิชาชีพ เพื่อทำให้เกิดเครือข่ายการดูแลผู้ป่วยและระบบการส่งต่อที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ต้องอาศัยเทคโนโลยีเพื่อปรับระบบการบริการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อลดความแออัดของคนไข้ในโรงพยาบาล เช่น โครงการรับยาใกล้บ้าน การส่งยาทางไปรษณีย์ ระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) และการมีคลินิกย่อย ๆ ที่จะตอบสนองความต้องการและเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างแท้จริง”

รศ.นพ.วัชรา บุญสวัสดิ์ ประธานเครือข่ายคลินิกโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบง่าย (Easy Asthma and COPD Clinic Network: EACC) กล่าวว่า คลินิกโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังอย่างง่ายก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2547 ด้วยความตั้งใจที่จะพัฒนาโรงพยาบาลทั่วประเทศที่ไม่มีแพทย์เฉพาะทาง ให้สามารถดูแลผู้ป่วยโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังได้ตามมาตรฐานในระดับสากล ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และช่วยลดผลกระทบต่อทั้งครอบครัวและสังคม ปัจจุบันเครือข่ายฯ มีสมาชิกกว่า 1,400 แห่งทั่วประเทศ ทำให้ผู้ป่วยในทุกภูมิภาคสามารถเข้าถึงการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ และลดอัตราการกำเริบรุนแรงจนต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล โดยในปี 2553-2557 มีจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาและนอนในโรงพยาบาลลดลงมากกว่า 30% และในปี 2558 – 2560 ที่มีการขยายเครือข่ายไปสู่ระดับปฐมภูมิ พบว่ามีการลดอัตราการกำเริบของผู้ป่วยได้มากกว่าเดิมอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นความสำเร็จที่เกิดจากความร่วมมือของสหวิชาชีพทุกฝ่าย ที่ปรารถนาให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ในปี 2558-2562 อัตราการรับผู้ป่วยในโรงพยาบาลของโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากสาเหตุหลาย ๆ ปัจจัย
“ปีนี้เครือข่ายฯ มีพันธกิจ “สานต่อเป้าหมาย เพิ่มเครือข่ายสู่ปฐมภูมิ” คือเน้นส่งเสริมให้สถานบริการสาธารณสุขหรือสมาชิกเครือข่ายฯ ที่ดำเนินงานคลินิกโรคหืดฯ ที่ได้มาตรฐานอยู่แล้ว เป็นโมเดลในการขยายรูปแบบและแนวทางการรักษาไปสู่ระบบบริการปฐมภูมิ หรือ PCC (Primary Care Cluster) ณ สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน อาทิ คลินิกหมอครอบครัว โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และร้านขายยาคุณภาพ เพื่อให้สามารถเข้าถึงผู้ป่วยในทุกพื้นที่ได้มากขึ้น และยังสามารถส่งต่อผู้ป่วยที่สามารถควบคุมอาการกำเริบของโรคได้แล้ว ไปยังสถานบริการเหล่านี้ เพื่อช่วยให้การรักษาสะดวกขึ้น ลดภาระค่าใช้จ่ายและเวลาในการเดินทาง คุณภาพชีวิตก็จะดีขึ้น นอกจากนี้ ยังช่วยลดความแออัดของโรงพยาบาล ทำให้สามารถรองรับผู้ป่วยโรคอื่น ๆ ได้มากขึ้น ดังตัวอย่างความสำเร็จของ EACC ขอนแก่นโมเดล ที่ได้ส่งต่อองค์ความรู้และแนวทางการดำเนินงานไปยังสถานพยาบาลปฐมภูมิที่อื่นต่อไป”

การประชุมใหญ่เครือข่ายคลินิกโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังอย่างง่ายประจำปีครั้งที่ 16 มีบุคลากรทางการแพทย์เข้าร่วมประชุมกว่า 500 คน รวมกับผู้ที่ลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ นอกจากนี้ ยังมีการถ่ายทอดสด Live Streaming ผ่านเฟซบุ๊กเพจเครือข่ายคลินิกโรคหืดฯ สำหรับผู้ที่สนใจอีกด้วย ผู้เข้าร่วมการประชุมต่างได้รับองค์ความรู้ใหม่ ๆ ตามแนวทางการรักษาในระดับสากลที่มีการปรับเปลี่ยนไปในแต่ละปี ได้แลกเปลี่ยนและศึกษาแนวทางการทำคลินิกโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังอย่างได้ผล รวมทั้งได้เรียนรู้เครื่องมือใหม่ E-Learning EACC online ที่จะช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถเข้าถึงข้อมูลการดูแลรักษาผู้ป่วยได้ทุกที่ทุกเวลา เพื่อนำไปพัฒนาคลินิกโรคหืดฯ ในสถานพยาบาลของตน และบรรลุเป้าหมายของเครือข่ายฯ ในการลดอัตราการกำเริบเฉียบพลันของโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรัง เพราะโรคทั้งสองชนิดนี้สามารถควบคุมไม่ให้กำเริบได้ หากมีการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *